วันศุกร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

กระติบข้าวชาวอีสาน




กระติบข้าวชาวอีสาน

ภูมิปัญญา คือ แบบแผนการดำเนินชีวิตที่มีคุณค่า แสดงถึงความเฉลียวฉลาดของบุคคลและสังคมซึ่งได้สั่งสมปฏิบัติสืบต่อกันมา
กระติบข้าวของชาวอีสานเป็นภาชนะเก็บอาหารที่ทางคุณค่ามากด้วยภูมิปัญญา เก็บความร้อนได้ดี ในขณะที่ยอมให้ไอน้ำระเหยออกไปได้ ทำให้ข้าวเหนียวที่บรรจุภายในกระติบไม่แฉะด้วยไอน้ำ ต่างจากกระติกน้ำแข็ง ที่พ่อค้าแม่ค้าข้าวเหนียวส้มตำบางร้านนำมาใช้บรรจุข้าวเหนียวเพื่อรอขายซึ่งจำเป็นต้องใช้ผ้าขาวรองอีกทีก่อนบรรจุข้าวเหนียว แต่เม็ดข้าวที่อยู่รอบขอบกระติกก็ยังแฉะอยู่ดี
เคล็ดลับของการสารกระติบข้าวอยู่ที่การสานภาชนะเป็นสองชั้น ชั้นในสุดจะสานด้วยตอกไม้ให้มีความห่างเล็กน้อยเพื่อให้ไอน้ำระเหยออกจากข้าวไปสู่ช่องว่างภายในก่องหรือกระติบข้าวได้ ชั้นนอกสุดจะสานด้วยตอกที่มีความชิดแน่นกว่าเพื่อเก็บความร้อนเอาไว้ ไอน้ำที่มีความร้อนอยู่ภายในช่องว่างนี้จะช่วยทำให้ข้าวเหนียวที่อยูภายในกระติบยังคงความร้อนได้อีกนาน โดยเมล็ดข้าวจะไม่มีไอน้ำเกาะ
ฝากระติบและตัวกระติบจะมีลักษณะเหมือนกัน เพียงแต่มีขนาดที่ต่างกันเล็กน้อย สามารถสวมใส่กันได้พอดี ในส่วนตัวกระติบจะมีฐานรองทำจากก้านตาลขดเป็นวงกลม มีขนาดเล็กกว่าตัวกระติบเล็กน้อย ยึดด้วยหวายให้ติดกับตัวกระติบ

ขั้นตอนการสานกระติบข้าว
1. การเตรียมไม้ไผ่สำหรับการสานกระติบข้าวนั้น ควรมีอายุไม่เกินหนึ่งปี โดยเลือกไผ่ที่โตเพียงฝนเดียวมาทำก่องข้าวหรือสานกระติบ สำหรับไผ่ที่ใช้ทำกระติบได้ดีที่สุดจะมีอายุประมาณ 4-5 เดือน
การเลือกไม้ไผ่ จะเลือกไม้ที่มีข้อปล้องยาวและตรง มีผิวเรียบเป็นมันนำมาตัดข้อปล้องทางหัวและท้ายออก โดยใช้เลื่อยตัดรอบไม้ไผ่เพื่อป้องกันผิวไผ่ฉีก ขนาดของปล้องไม้ไผ่หนึ่ง ควรมีความยาวประมาณ 30-40 เซนติเมตร จากนั้นจึงใช้มีดโต้ผ่าออกเป็นชิ้นๆ แล้วใช้มีดตอกจักเป็นตอกขูดเปลือกสีเขียว ของมันออกและตากแดดเพื่อเก็บรักษาเอาไว้ก่อนจะทำงานสาน
2. เมื่อเหลาไม้ไผ่จนมีขนาดเหลือความหนาประมาณ 0.05 เชนติเมตร ก็จะขูดเสี้ยนไม้ออก เพื่อให้ตอกมีความเรียบและอ่อนบางที่สุด กระติบที่ได้ก็จะสวย และเวลาสานถ้าหากว่าเป็นตอกอ่อนก็จะทำให้สานง่ายไม่เจ็บมืออีกด้วย
3. เมื่อได้ตอกมาประมาณ 100-150 เส้นแล้ว ก็จะเริ่มสานกระติบข้าวได้ บางครั้งผู้สานต้องการเพิ่มลวดลายในการสานกระติบก็จะย้อมสีตอกก่อนก็มี ส่วนใหญ่จะใช้สีผสมลงในกระบอกไม้ไผ่แล้วนำมาย้อมตอกให้เป็นสีสันตามที่ตัวเองต้องการ
เมื่อลงมือสานมักจะเริ่มต้นสานใช้ตอก 6 เส้น แล้วสานด้วยลายสอง โดยทิ้งชายตอกให้เหลือประมาณ 5 เซนติเมตร เมื่อสานได้ยาวจนชายตอกอีกด้านเหลือประมาณ 3 เซนติเมตรให้นำชายทั้งสองข้างมาประกับกันโดยใช้ลายสอง และเมื่อนำมาประกบกันได้แล้วด้วยลายสอง ก็จะม้วนชายตอกที่ไม่ต้องการอีกทีด้วยการสานลายสองเวียน
การสานกระติบให้ประกบซ้อนกันเป็นสองชั้น ก็เพื่อช่วยเก็บความร้อนให้อยู่ได้ชั่วขณะหนึ่งพอที่จะทำให้ได้กินข้าวเหนียวที่ไม่แข็งเกินไป นอกจากนั้นกระติบข้าวที่ทำจากไม้ไผ่ยังช่วยดูดซับเอาหยาดน้ำที่อยู่ภายในที่จะเป็นตัวทำให้ข้าวเปียกหรือแฉะได้อีกด้วย 4. การขึ้นลายกระติบ ซึ่งจะขึ้นอยู่กับความต้องการของคนที่สานว่าต้องการใช้ลายอะไร เพราะแต่ละลายจะขึ้นต่างกัน ลายกระติบที่นิยมสาน คือ “ลายข้างกระแตสองยืนและสามยืน” การขึ้นลายสองนั้น จะยกตอก 2 เส้นแล้วทิ้ง 2 เส้น และเมื่อขึ้นลายไปได้ประมาณครึ่งหนึ่งของความยาวของตอกแล้ว ก็จะสานต่อด้วยลายสามนอนหรือลายคุบ จากนั้นจึงสานด้วยลายสองยืนอีกครั้งเพื่อความแข็งแรงของกระติบข้าว จากนั้นจึงม้วนเก็บชายตอกด้วยการพับครึ่งเข้าไปข้างในทั้งสองข้างและบีบเพื่อตกแต่งให้สวยงาม
5. ส่วนก้นของกระติบข้าวนั้นจะสานเป็นแผ่นแบนสองอันมาประกบกันเข้าแล้วผูกติดกับส่วนตัวกระติบ เรียกขั้นตอนนี้ว่า “อัดตุ๋” ซึ่งมีการเย็บอยู่สองวิธีคือ การเย็บโดยใช้หวาย กับเย็บด้วยการใช้ด้ายเย็บ แต่การเย็บด้วยหวายนั้นให้ความสวยงามตามธรรมชาติ และมีความแข็งแรงกว่าการเย็บด้วยด้าย แต่ปัญหาก็คือหวาย จะหายากในปัจจุบัน
6. ฐานของกระติบ ซึ่งคนอีสานจะเรียกว่า “ตีนติบข้าว” เป็นส่วนหนึ่งมี่ต้องรับน้ำหนักและจำเป็นที่จะต้องทำให้แข็งแรง ดังนั้นส่วนใหญ่จึงใช้ก้านตาลมาเหลาแล้วโค้งให้เป็นวงกลมเท่ากับขนาดของก้นกระติบข้าว ก้านตาลที่ใช้จะต้องตรงไม่คดเบี้ยวและมีความยาวประมาณ 1 เมตรขึ้นไป นำก้านตาลที่ตัดได้มาเหลาเอาหนามตาลออก ผ่าตามความยาวของก้านตาล ซึ่งก้านตาล 1 ก้านใหญ่สามารถทำตีนกระติบได้ 1-2 อัน จากนั้นจึงผ่าเกลาให้เรียบเสมอกัน นำมาม้วนแล้วทิ้งไว้ให้แห้งโดยใช้เวลาประมาณ 15-20 วันเป็นอย่างน้อย
7. ฝากระติบข้าวนั้นจะสานเช่นเดียวกับตัวกระติบเพียงแต่ให้ใหญ่กว่าเพื่อสวมครอบปิดเปิดได้ กระติบข้าวที่สานเสร็จแล้วไม่ควรเก็บไว้ในที่ชื้น เพราะจะทำให้ขึ้นราได้ง่ายและมีมอดเจาะ และควรเก็บไว้ในที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก
ข้อเสนอแนะ
1. การเลือกไม่ไผ่ควรเลือกไม้ไผ่ที่มีปล้องยาวอายุประมาณ 10 เดือน ถึง 1 ปี
2. การจักตอกต้องมีความกว้าง ความยาวเท่าๆ กัน ทุกเส้น เพื่อจะได้กระติบรูปร่างสวยงาม
3. ก่อนที่จะเหลาหรือขูดเส้นตอก ให้นำเส้นที่จักแล้วแช่น้ำประมาณ 1 ชั่วโมง เพื่อให้เส้นตอกอ่อนนุ่มเพื่อจะได้ขูดเหลาได้ง่ายขึ้น แล้วนำไปตากแดดให้แห้งสนิท เพื่อป้องกันเชื้อราก่อนลงมือสาน
4. การสานเป็นลวดลายต่างๆ ที่น่าสนใจจะสามารถจำหน่ายได้ในราคาดีขึ้น
5. สามารถประยุกต์เป็นของชำร่วยแบบต่างๆ ได้มากมาย เช่น กล่องใส่กระดาษชำระ กระเป๋า แจกัน
6. การใช้สีย้อมไหมมาย้อมเส้นตอกจะทำให้ลวดลายสีสันสวยงามขึ้น
7. การตกแต่งฝาบนด้วยการทำคิ้วจะทำให้มีความสวยงามและคงทน

นี่คือภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ไม่อาจมองข้ามได้ เพราะเพียงหัตถกรรมพื้นบ้านธรรมดาเช่นนี้ กลับกลายเป็นรายได้อีกทางหนึ่งให้กับชุมชน อนาคตงานจักสานจะดำเนินไปในทิศทางใด ก็ขึ้นอยู่กับคนรุ่นใหม่ที่จะช่วยกันอนุรักษ์ไว้

ที่มา
1. http://www.isangate.com/
2. http://www.img156.imageshack.us/
3. http://www.wcs.hopto.org/
4. http://www.sawasdeenakhonphanom.com/
5. http://www.geocities.com/

วันเสาร์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

ความหมาย ความสำคัญ และรูปแบบของนวัตกรรม

ความหมาย ความสำคัญและรูปแบบของนวัตกรรม
ผู้เขียน ธัญรส เหมจินดา

นวัตกรรม (innovation) หมายถึง การทำสิ่งต่างๆ ด้วยวิธีใหม่ๆ และยังอาจหมายถึงการเปลี่ยนแปลงทางความคิด การผลิต กระบวนการหรือองค์กร ไม่ว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นจะเกิดขึ้นจากการปฏิวัติ การเปลี่ยนแปลงอย่างถอนรากถอนโคน หรือการพัฒนาต่อยอด โดยใช้ความสามารถในการใช้ความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ ทักษะ และประสบการณ์ทางเทคโนโลยี หรือการจัดการมาพัฒนา และผลิตเครื่องมือใหม่ๆ กระบวนการใหม่ หรือบริการใหม่ ซึ่งตอบสนองความต้องการของตลาด อาจสรุปได้ว่า นวัตกรรม หมายถึง สิ่งประดิษฐ์ หรือสิ่งใหม่ที่ต้องการสร้างขึ้นเพื่อนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์นั่นเอง
ความสำคัญของนวัตกรรม
การส่งเสริมให้เยาวชนมีการพัฒนาความสามารถด้านนวัตกรรม จะทำให้ประเทศมีความได้เปรียบในการแข่งขันกับประเทศอื่น มีความคิดสร้างสรรค์และสามารถพัฒนาเทคโนโลยีให้เจริญรุดหน้า มีการนำความรู้ความสามารถและความคิดสร้างสรรค์ไปใช้อย่างมีประโยชน์ เกิดสิ่งประดิษฐ์ ผลผลิต ผลงานและการบริการใหม่ๆ ที่ตรงตามความต้องการของตลาด ส่งเสริมและพัฒนาภูมิปัญญาให้มีคุณค่ามากขึ้น ผู้คิดค้นมีชื่อเสียงและร่ำรวย พัฒนาความสามารถของมนุษยชาติ พัฒนาการใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้คุ้มค่าและยาวนานยิ่งขึ้น ทำให้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่เหมาะสมตามความต้องการ และเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศชาติในระยะยาว
รูปแบบของนวัตกรรม
1. เป็นความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีใหม่ๆ หรือพัฒนาจากความรู้เดิม หรือดัดแปลง หรือปรับปรุงให้ดีขึ้น
2. เป็นผลิตผลเพื่อการบริการ ด้านสุขภาพอนามัย เครื่องอำนวยความสะดวกในบ้านเรือน สำนักงาน และยานพาหนะ และอื่นๆ
3. สิ่งประดิษฐ์ อุปกรณ์ เครื่องมือ ต้นแบบผลิตภัณฑ์ กรรมวิธี กระบวนการ โปรแกรมคอมพิวเตอร์
4. เป็นวิธีการ หรือรูปแบบวิธีคิดใหม่ๆ

วันเสาร์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2551

ปรัชญาปฏิบัตินิยม

รากฐานปรัชญาการศึกษาในสังคมประชาธิปไตย

ปรัชญาปฏิบัตินิยม (Pragmatism) เป็นแนวคิดที่เริ่มแพร่หลายมาตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศสหรัฐอเมริกา มีนักปรัชญาโบราณคนสำคัญที่เป็นต้นเค้าของปรัชญาปฏิบัตินิยม เช่น เฮราคลิตุส (Heraclitus) พวกโสฟิสต์ (The Sophists) ฟรานซิส เบคอน (Francis Bacon) และโอกุสต์ กองต์ (Auguste Comte) นอกจากนี้ยังมีนักปรัชญาสมัยใหม่อีกหลายคนที่เป็นผู้ริเริ่มเคลื่อนไหวปรัชญาปฏิบัตินิยมในสหรัฐอเมริกา คือ ชาร์ลส์ แซนเดอร์ส เพิร์ช วิลเลียม เจมส์ และจอห์น ดิวอี้ แนวคิดของนักปรัชญาแต่ละคนมีลักษณะร่วมที่เห็นเหมือนกันว่าปรัชญาปฏิบัตินิยมเน้นลักษณะความเป็นปัจเจกบุคคล กล่าวคือคนแต่ละคนนั่นเองที่ก่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ เป็นผู้ประกอบกิจกรรม และนำกิจกรรมไปใช้ปฏิบัติให้เกิดประโยชน์

ปรัชญาปฏิบัตินิยมแม้จะเป็นความคิดที่ค่อนข้างใหม่แต่ก็แพร่หลายไปอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้เนื่องจากแนวคิดส่วนใหญ่เน้นความเป็นไปได้ในชีวิตปัจจุบันและอนาคต ปรัชญาปฏิบัตินิยมสอนให้ใช้วิธีการแบบทดลองโดยมีประสบการณ์เป็นพื้นฐานเพิ่มเติมด้วย จะทำให้การแสวงหาความรู้สมบูรณ์ขึ้น และทำให้คนไม่จำกัดตนเองอยู่ในวงแคบ นอกจากนี้ปรัชญาปฏิบัตินิยมมีส่วนช่วยในการพัฒนาการศึกษาเป็นอย่างมาก แนวความคิดของ จอห์น ดิวอี้ ก่อให้เกิดความคิดในการปฏิรูปการศึกษาในสังคมประชาธิปไตย จากแบบจารีตเป็นแบบก้าวหน้า โดยทำให้เห็นความจริงที่สำคัญประการหนึ่ง คือ การศึกษามิได้กเดขึ้นเฉพาะในชั้นเรียน ในแบบฝึกหัด หรือเพียงแค่ตำราที่ครูสอนเท่านั้น แต่เป็นการทดลองตลอดเวลาในประสบการณ์ของมนุษย์ การมองเห็นวัฏจักรของประสบการณ์ คือการรู้ตระหนักเกี่ยวกับวัฏจักรของการเรียนรู้ อย่างไรก็ตามปรัชญาปฏิบัตินิยมก็ยังคงมีจุดอ่อนที่สามารถโต้แย้งได้อยู่หลายประการ เช่น การเน้นความเป็นปัจเจกบุคคลมากเกินไปจะทำให้กลายเป็นคนเห็นแก่ตัวเอง มองเข้าหาตัวเองเป็นหลัก ทำให้ขาดการมองประโยชน์ของสังคม ปรัชญาปฏิบัตินิยมไม่ได้ดูถึงแก่นแท้ของสิ่งใดและมีอยู่อย่างไร แต่ดูเพียงว่ามันทำงานอย่างไรในกระบวนการนั้น ในด้านศาสนาปรัชญาปฏิบัตินิยมเป็นพวกที่ปฏิเสธพระเจ้า
ถึงแม้ว่าปรัชญาปฏิบัตินิยมจะเสนอแนวคิดที่แตกต่างกับปรัชญาชนิดอื่นตรงที่เน้นผลทางปฏิบัติมากกว่าหลักการหรือทฤษฎี แต่ก็มิได้หมายความว่าหลักการไม่สำคัญ การที่จะแก้ปัญหาใดก็ตามจำเป็นต้องรูปหลักการสำคัญเกี่ยวกับสิ่งนั้นก่อน ขณะเดียวกันก็สามารนำหลักการหรือทฤษฎีนั้นมาใช้แก้ปัญหา ปรัชญาปฏิบัตินิยมมุ่งให้คนคำนึงถึงความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติมากกว่าจะยึดติดกับทฤษฎีใดทฤษฎีหนึ่งอย่างเดียว เพราะในชีวิตจริงของคนเรานั้นบางครั้งเราก็ไม่สามารถหาความคิดที่เป็นแบบสำเร็จรูปที่สมบูรณ์พร้อมเพื่อนำไปใช้แก้ปัญหาที่เราเผชิญอยู่ได้ ดังนั้นการเปิดใจให้กว้างและพิจารณาปัญหาจากหลายๆ ด้าน อาจช่วยให้การดำเนินชีวิตของมนุษย์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและมีค่ามากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะด้านการศึกษาในสังคมประชาธิปไตย

วันพฤหัสบดีที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2551

โครม!

"โครม" เป็นเรื่องราวของการโต้แย้งในข้อสรุปทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการสูญพันธุ์ของไดโนเสาร์ โดยนักวิทยาศาสตร์แต่ละกลุ่มมีแนวคิดหรือข้อสันนิษฐานของตน ซึ่งได้จากการสำรวจและศึกษาวิจัยจากข้อมูลในหลายๆ องค์ประกอบ แล้วนำมาเชื่อมโยงเป็นทฤษฎีของตนเองขึ้น ต่างฝ่ายก็มีทั้งข้อสนับสนุนและโต้แย้งที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้ แต่ที่สำคัญประเด็นข้อขัดแย้งเหล่านี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาในวิทยาการด้านต่างๆ อย่างมากมาย ซึ่งนับว่าเป็นผลดีในแง่ของความหลากหลายทางวิชาการ
ประเด็นข้อขัดแย้งทางวิทยาศาสตร์ที่ว่า เริ่มจากการขุดพบก้อนหินรูปร่างประหลาดที่เมืองแมนสัน ในรัฐไอโอวา นักวิทยาศาสตร์ได้ตั้งข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับที่มาของหินอย่างผิดพลาด แต่ต่อมาเมื่อได้มีการศึกษาวิจัยอย่างจริงจังกลับกลายเป็นว่าเป็นหินจากนอกโลก โดยสรุปคือ ลักษณะทางภูมิศาสตร์ของเมือง แมนสันเกิดจากอุกกาบาตจากนอกโลกพุ่งชน
จากข้อสรุปดังกล่าวทำให้นักวิทยาศาสตร์หลายคนในช่วงต้นศตวรรษ 1950 อาทิเช่น ยูจีน ชูเมกเกอร์ (Eugene Shoemaker) และ เอเลนอร์ เฮลิน (Eleanor Helin) เริ่มสำรวจระบบสุริยจักรวาลจริงจัง ทำให้ค้นพบดาวเคราะห์น้อยเป็นจำนวนมากในระบบสุริยจักรวาล แต่สิ่งสำคัญคือ ไม่มีใครไปเบี่ยงเบนทิศทางไม่ให้พุ่งชนโลกได้ นั่นคือ ดาวเคราะห์น้อยดวงไหนๆ ก็มีโอกาสพุ่งชนโลกได้ทั้งนั้น ซึ่งสรุปแล้วมีดาวเคราะห์น้อยราวๆ 2,000 ดวงที่พอจะทำลายล้างอารยธรรมของโลกได้ ดวงที่เคยผ่านโลกไปในระยะใกล้ประมาณ 170,000 กิโลเมตร ซึ่งพบเมื่อปี 1991 คือ 1991 BA
ในขณะที่จีน ชูเมกเกอร์ กำลังเตือนให้โลกรับรู้ในอันตรายของระบบสุริยะ มีการค้นพบของนักธรณีวิทยาที่อิตาลีตอนต้นปี 1979 เกี่ยวกับแถบดินสีแดงๆ ขาวๆ ที่เป็นตัวแบ่งระหว่างชั้นหินปูนโบราณสองชั้น ชั้นหนึ่งมาจากยุคครีเตเชียส อีกชั้นเป็นยุคเทอร์เชียรี สิ่งที่พบนี้เรียกกันว่า พรมแดนเคที (KT boundary) สิ่งนี้ใช้บ่งบอกระยะเวลา 65 ล้านปีก่อน อันเป็นช่วงเวลาที่บันทึกของฟอสซิลระบุว่า ไดโนเสาร์และสัตว์สปีชีส์อื่นๆ ประมาณครึ่งโลกได้สุญพันธุ์ไปอย่างฉับพลันทันที ในเรื่องนี้ทำให้วอลเตอร์ อัลวาเรซ (Walter Alvarez) ต้องศึกษาหาหลักฐานมาประกอบแนวคิดซึ่งขัดแย้งกับความเชื่อดั้งเดิมว่าการสูญพันธุ์ของไดโนเสาร์ค่อยๆ สูญพันธุ์ไปโดยใช้เวลาหลายล้านปี อัลวาเรซได้รับความช่วยเหลือจากพ่อของเขา ลูอิส อัลวาเรซ (Luis Alvarez) ซึ่งเป็นนักนิวเคลียร์ฟิสิกส์รางวัลโนเบล และเพื่อนร่วมงาน แฟรงค์ อาซาโร (Frank Asoro) ใช้เทคนิคการวัดองค์ประกอบทางเคมีโดยใช้กระบวนการที่เรียกว่า "การวิเคราะห์กิจกรรมทางนิวตรอน" ผลการทดลองบ่งชี้ว่า "โลกเคยถูกดาวเคราะห์น้อยหรือไม่ก็ดาวหางพุ่งชน" ซึ่งอ้างอิงมาจากการตรวจวิเคราะห์อิริเดียมที่มีมากกว่าระดับปกติถึงหลายร้อยเท่า แต่ฝ่ายตรงข้ามกับทฤษฎีของ อัลวาเรซ คนสำคัญคือ ชาร์ลส์ ออฟฟิชเชอร์ (Charles Officer) ยืนกรานว่า อิริเดียมสะสมจากกิจกรรมของภูเขาไฟ มิใช่เกิดจากการระเกิดใหญ่ขึ้นครั้งเดียวแล้วทำให้ไดโนเสาร์สูญพันธุ์
หลักฐานที่ยืนยันแนวความคิดของอัลวาเรซอีกประการหนึ่งคือหลุมอุกกาบาต แต่จากการปรับปรุงข้อมูลทางธรณีวิทยาระบุว่า แมนสันไม่ใช่หลุมอุกกาบาต อย่างไรก็ตามกลับมีการค้นพบจุดที่อุกกาบาตที่เมืองชิกซูลับ (Chicxulub) ของประเทศเม็กซิโกในปี 1990 และเป็นเวลาที่ประจวบเหมาะคือ มีการพุ่งชนของดาวเคราะห์โดยธรรมชาติ คือ ดาวหางชูเมกเกอร์-เลวี 9 พุ่งชนดาวพฤหัส การพุ่งชนครั้งนี้สร้างความเสียหายให้กับพื้นผิวดาวพฤหัสเท่ากับโลก เกิดความเสียหายมากกว่าที่ประเมินไว้ ซึ่งเป็นหลักฐานยืนยันความคิดของอัลวาเรซ
การพุ่งชนของดาวเคราะห์หรือดาวหางได้มีการประเมินสถานการณ์ไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้
1. อุณหภูมิที่สูงถึง 60,000 เคลวิน หรือสิบเท่าของอุณหภูมิดวงอาทิตย์เมื่อผ่านเข้ามาในชั้นบรรยากาศ ทุกสิ่งในทางผ่าน เช่น บ้านเรือน ผู้คน รถ จะหดเหี่ยวและหายไปเหมือนเยื่อกระดาษบางๆ ที่โดนเปลวไฟ
2. แรงระเบิดจะกระจายหิน ดิน และก๊าซร้อนจัด ออกไปโดยรอบในรัศมี 250 กิโลเมตร สิ่งมีชีวิตจะตายด้วยแรงระเบิดและไกลออกไปถึง 1,500 กิโลเมตร การทำลายล้างจากระเบิดจึงค่อยๆ สงบลง
3. ผลจากการพุ่งชนก่อให้เกิดแผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด เกิดคลื่นสึนามิภายใน 1 ชั่วโมง เมฆที่เกิดจากฝุ่นผงจะปกคลุมโลก ชั้นบรรยากาศไอโอโนสเฟียร์ที่ถูกปกคลุมจะทำให้ระบบต่างๆ ถูกทำลาย และทำให้สภาวะอากาศของโลกเลวร้ายต่อมาอีกราว 10,000 ปี
4. เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากที่จะตรวจพบดาวเคราะห์น้อยหรือดาวหางที่จะพุ่งเข้ามาชนโลก และถึงตรวจพบล่วงหน้าเป็นปีก็ไม่อาจรับมือกับสถานการณ์ได้ จากการคำนวณพบว่าทุกๆ หนึ่งล้านปีจะมีการพุ่งชนครั้งใหญ่