วันเสาร์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2551

ปรัชญาปฏิบัตินิยม

รากฐานปรัชญาการศึกษาในสังคมประชาธิปไตย

ปรัชญาปฏิบัตินิยม (Pragmatism) เป็นแนวคิดที่เริ่มแพร่หลายมาตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศสหรัฐอเมริกา มีนักปรัชญาโบราณคนสำคัญที่เป็นต้นเค้าของปรัชญาปฏิบัตินิยม เช่น เฮราคลิตุส (Heraclitus) พวกโสฟิสต์ (The Sophists) ฟรานซิส เบคอน (Francis Bacon) และโอกุสต์ กองต์ (Auguste Comte) นอกจากนี้ยังมีนักปรัชญาสมัยใหม่อีกหลายคนที่เป็นผู้ริเริ่มเคลื่อนไหวปรัชญาปฏิบัตินิยมในสหรัฐอเมริกา คือ ชาร์ลส์ แซนเดอร์ส เพิร์ช วิลเลียม เจมส์ และจอห์น ดิวอี้ แนวคิดของนักปรัชญาแต่ละคนมีลักษณะร่วมที่เห็นเหมือนกันว่าปรัชญาปฏิบัตินิยมเน้นลักษณะความเป็นปัจเจกบุคคล กล่าวคือคนแต่ละคนนั่นเองที่ก่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ เป็นผู้ประกอบกิจกรรม และนำกิจกรรมไปใช้ปฏิบัติให้เกิดประโยชน์

ปรัชญาปฏิบัตินิยมแม้จะเป็นความคิดที่ค่อนข้างใหม่แต่ก็แพร่หลายไปอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้เนื่องจากแนวคิดส่วนใหญ่เน้นความเป็นไปได้ในชีวิตปัจจุบันและอนาคต ปรัชญาปฏิบัตินิยมสอนให้ใช้วิธีการแบบทดลองโดยมีประสบการณ์เป็นพื้นฐานเพิ่มเติมด้วย จะทำให้การแสวงหาความรู้สมบูรณ์ขึ้น และทำให้คนไม่จำกัดตนเองอยู่ในวงแคบ นอกจากนี้ปรัชญาปฏิบัตินิยมมีส่วนช่วยในการพัฒนาการศึกษาเป็นอย่างมาก แนวความคิดของ จอห์น ดิวอี้ ก่อให้เกิดความคิดในการปฏิรูปการศึกษาในสังคมประชาธิปไตย จากแบบจารีตเป็นแบบก้าวหน้า โดยทำให้เห็นความจริงที่สำคัญประการหนึ่ง คือ การศึกษามิได้กเดขึ้นเฉพาะในชั้นเรียน ในแบบฝึกหัด หรือเพียงแค่ตำราที่ครูสอนเท่านั้น แต่เป็นการทดลองตลอดเวลาในประสบการณ์ของมนุษย์ การมองเห็นวัฏจักรของประสบการณ์ คือการรู้ตระหนักเกี่ยวกับวัฏจักรของการเรียนรู้ อย่างไรก็ตามปรัชญาปฏิบัตินิยมก็ยังคงมีจุดอ่อนที่สามารถโต้แย้งได้อยู่หลายประการ เช่น การเน้นความเป็นปัจเจกบุคคลมากเกินไปจะทำให้กลายเป็นคนเห็นแก่ตัวเอง มองเข้าหาตัวเองเป็นหลัก ทำให้ขาดการมองประโยชน์ของสังคม ปรัชญาปฏิบัตินิยมไม่ได้ดูถึงแก่นแท้ของสิ่งใดและมีอยู่อย่างไร แต่ดูเพียงว่ามันทำงานอย่างไรในกระบวนการนั้น ในด้านศาสนาปรัชญาปฏิบัตินิยมเป็นพวกที่ปฏิเสธพระเจ้า
ถึงแม้ว่าปรัชญาปฏิบัตินิยมจะเสนอแนวคิดที่แตกต่างกับปรัชญาชนิดอื่นตรงที่เน้นผลทางปฏิบัติมากกว่าหลักการหรือทฤษฎี แต่ก็มิได้หมายความว่าหลักการไม่สำคัญ การที่จะแก้ปัญหาใดก็ตามจำเป็นต้องรูปหลักการสำคัญเกี่ยวกับสิ่งนั้นก่อน ขณะเดียวกันก็สามารนำหลักการหรือทฤษฎีนั้นมาใช้แก้ปัญหา ปรัชญาปฏิบัตินิยมมุ่งให้คนคำนึงถึงความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติมากกว่าจะยึดติดกับทฤษฎีใดทฤษฎีหนึ่งอย่างเดียว เพราะในชีวิตจริงของคนเรานั้นบางครั้งเราก็ไม่สามารถหาความคิดที่เป็นแบบสำเร็จรูปที่สมบูรณ์พร้อมเพื่อนำไปใช้แก้ปัญหาที่เราเผชิญอยู่ได้ ดังนั้นการเปิดใจให้กว้างและพิจารณาปัญหาจากหลายๆ ด้าน อาจช่วยให้การดำเนินชีวิตของมนุษย์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและมีค่ามากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะด้านการศึกษาในสังคมประชาธิปไตย