วันอาทิตย์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

การเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการขนมปุยฝ้ายโดยการใช้พืชให้สี

สีของอาหารเป็นลักษณะแรกที่ได้รับทางสัมผัส ซึ่งผู้บริโภคใช้ในการเลือก และยอมรับอาหารนั้น ๆ โดยอาหารเกือบทุกชนิดตั้งแต่วัตถุดิบจนถึงผลิตภัณฑ์สุดท้าย มีสีที่ยอมรับโดยผู้บริโภคแตกต่างกันขี้นอยู่กับสังคม ภูมิศาสตร์ ความชอบของ สวยงาม และพื้นฐานของผู้บริโภค
สีผสมอาหารเป็นวัตถุเจือปนอาหารชนิดหนึ่ง ซึ่งผู้ผลิตอาหารใช้ผสมลงไปในอาหารเพื่อปรุงแต่งอาหารนั้นให้แลดูสวยงามหรือกลบเกลื่อนลักษณะอาหารที่เสื่อมสภาพให้คล้ายสีของอาหารตามธรรมชาติ รวมทั้งการแต่งสีเพื่อช่วยให้ดู คล้ายอาหารที่มีคุณภาพสูง เช่น อาหารที่ใช้ไข่เป็นส่วนผสม ปรากฎว่าในการผลิต จริงใช้ไข่เพียงเล็กน้อย หรือไม่ได้ไส่เลย แต่ใช้สีเหลืองผสมลงไปให้เป็นสีของไข่
โดยทั่วไปการใช้สีผสมอาหารใช้เพื่อวัตถุประสงค์ต่างๆ กัน คือ
1. เพื่อแต่งสีผลิตภัณฑ์อาหารที่ไม่มีสี
2. เพื่อแต่งสีผลิตภัณฑ์อาหารซึ่งอาจสูญเสียหรือเปลี่ยนไปมากในระหว่างกระบวนการผลิตหรือการเก็บรักษา
3. เพื่อแต่งสีผลิตภัณฑ์อาหารที่มีสีธรรมชาติแปรเปลี่ยนตามฤดูกาลและสภาพภูมิอากาศ
ทั้งนี้อาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า การเติมสีในอาหารก็เพื่อทำให้ผลิตภัณฑ์อาหาร เป็นที่จดจำและมีลักษณะที่ดีที่ผู้บริโภคต้องการและยอมรับ
การใช้สีผสมอาหารเพื่อแต่งสีของอาหาร จะต้องเลือกชนิดของสีผสมอาหาร ที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค และใช้ในปริมาณที่ไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค โดยสีผสม อาหารที่ใช้ควรมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้
1. ไม่ทำให้คุณสมบัติของอาหารเปลี่ยนไปในทางเลวลง
2. มีความอยู่ตัวในอาหาร
3. ไม่เกิดปฎิกริยากับผลิตภัณฑ์อาหารและบรรจุภัณฑ์ที่ใช้
4. ง่ายต่อการใช้ในผลิตภัณฑ์
5. ราคาถูก
6. ให้ความเข้มของสีสูง
สีผสมอาหารโดยทั่วไป อาจแบ่งเป็น 2 พวกใหญ่ ๆ คือ
1. สีสังเคราะห์ หมายถึง สีอินทรีย์ที่ได้จากการสังเคราะห์ ซึ่งมีลักษณะถูกต้อง ตามข้อกำหนดและปลอดภัยต่อการบริโภค
2. สีธรรมซาติ ได้แก่ สีที่ได้จากการสกัดจากวัตถุดิบธรรมชาติผ่านการ พิจารณาในเรื่องส่วนประกอบ กรรมวิธีการผลิต ความบริสุทธิ์และอื่นๆ จนแน่ใจว่า ปลอดภัยต่อการบริโภค
สีธรรมชาติจากพืชให้สีน่าจะเป็นทางออกที่ดีสำหรับผลิตภัณฑ์อาหารชนิดต่างๆ ที่ต้องการให้มีสีสันน่ารับประทาน เพราะสีจากพืชให้สีมีความปลอดภัย และยังมีสรรพคุณทางยาหลายประการ ประกอบกับเป็นพืชที่หาง่ายในท้องถิ่น เช่น สีจากดอกอัญชัน ใบเตย ฟักทอง กระเจี๊ยบแดง ดอกคำฝอย ฯลฯ
ขนมปุยฝ้ายเป็นขนมประเภทหนึ่งที่มีคุณค่าทางโภชนาการและเป็นที่นิยมรับประทานของคนทุกวัย เพราะมีสีสันและลักษณะที่ชวนรับประทาน โดยหากทำความเข้าใจหรือให้ข้อมูลด้านโภชนาการเพิ่มเติมเกี่ยวกับพืชให้สีแก่ผู้บริโภค ก็น่าจะเป็นการเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการ รูปลักษณ์ของขนม ตลอดจนสร้างความปลอดภัยในการบริโภค
จากการใช้สีจากพืชให้สีไปใช้ในการทำขนมปุยฝ้าย ซึ่งได้แก่ สีน้ำเงินจากดอกอัญชัน สีแดงจากผลกระเจี๊ยบ สีเหลืองจากฟักทอง สีเขียวจากเตยหอม สีม่วงจากการผสมสีน้ำเงินจาก ดอกอัญชันกับน้ำมะนาว และสีม่วงจากการผสมสีน้ำเงินจากดอกอัญชันกับสีแดงจากผลกระเจี๊ยบ เมื่อตรวจสอบคุณภาพของขนมที่ได้ พบว่าจะได้ขนมที่มีสี กลิ่น และรสชาติหลากหลาย โดยเปรียบเทียบกับขนมที่ไม่ได้เติมสี
ขนมปุยฝ้ายสีเขียวจากน้ำคั้นใบเตยมีสีเขียวเข้ม กลิ่นหอม เนื้อขนมขึ้นฟูและอ่อนนุ่ม รสชาติแตกต่างจากขนมปุยฝ้ายที่ไม่เติมสีเล็กน้อย
ขนมปุยฝ้ายสีเหลืองจากน้ำคั้นฟักทอง ได้ขนมสีเหลืองทอง เนื้อขนมขึ้นฟูและอ่อนนุ่ม รสชาติแตกต่างจากขนมปุยฝ้ายที่ไม่เติมสีเล็กน้อย
ขนมปุยฝ้ายจากน้ำคั้นกระเจี๊ยบสีแดง ได้ขนมสีม่วงอ่อน เนื้อขนมขึ้นฟูและอ่อนนุ่ม รสชาติแตกต่างจากขนมปุยฝ้ายที่ไม่เติมสีคือมีรสเปรี้ยวตามลักษณะของผลกระเจี๊ยบ
ขนมปุยฝ้ายจากน้ำคั้นดอกอัญชันสีน้ำเงิน และสีม่วงของดอกอัญชันผสมมะนาว ได้ขนม สีน้ำเงิน และสีม่วงเข้ม เนื้อขนมขึ้นฟูและอ่อนนุ่ม รสชาติแตกต่างจากขนมปุยฝ้ายที่ไม่เติมสีเล็กน้อย
ในส่วนของสีสันที่ได้มีความแปลกใหม่ดึงดูดใจผู้บริโภค เพราะในปัจจุบันผู้บริโภคสนใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น การใช้สีจากพืชให้สีจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับอาหารปลอดภัยเพื่อสุขภาพที่ดี

วันพฤหัสบดีที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2552

ความสำคัญและความสัมพันธ์ของการใช้นวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาท้องถิ่น

นวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นวิธีการปฏิบัติใหม่ๆ ที่แปลกไปจากเดิม โดยอาจจะได้มาจากการคิดค้นพบวิธีการใหม่ๆ ขึ้นมา หรือการปรุงแต่งของเก่าให้มีความเหมาะสมและสิ่งเหล่านี้ได้รับการทดลองพัฒนามาจนเป็นที่เชื่อถือได้แล้วว่าได้ผลดีในทางปฏิบัติ ทำให้ระบบก้าวไปสู่จุดหมายปลายทางได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้น
การพัฒนาอุตสาหกรรมต่างๆ ของประเทศไทยมักกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล การกระจายรายได้ไปยังพื้นที่อื่นๆ ของประเทศด้วยการนำนวัตกรรมมาใช้ให้เป็นประโยชน์จึงเป็นสิ่งจำเป็น การสร้างเครือข่ายทางเทคโนโลยีโดยการร่วมมือกับสถาบันต่างๆ จะช่วยสร้างสรรค์นวัตกรรมในท้องถิ่นให้มีศักยภาพทางการแข่งขันในตลาด
ในปัจจุบันประเทศต่างๆ ทั่วโลกกำลังประสบปัญหาวิกฤตสุขภาพ อาหาร และพลังงาน จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งผลักดันนวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตการณ์นี้ เช่น การใช้องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เพื่อส่งเสริมผลิตภัณฑ์ นวัตกรรมด้านสมุนไพรเพื่อลดการนำเข้ายา ในด้านอาหารควรส่งเสริมอาหารอินทรีย์ (organic food) เพื่อให้ประชาชนได้บริโภคอาหารปราศจากสารพิษ และส่งเสริมให้ประชาชนได้รับความรู้และข้อมูลข่าวสารในเรื่องเภสัชโภชนศาสตร์ (nutraceulical) เพื่อให้คนไทยมีสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืน ในการแก้ปัญหาวิกฤตพลังงาน ประเทศไทยต้องเร่งส่งเสริมให้เกิดการใช้นวัตกรรมทางพลังงานบนพื้นฐานของการพึ่งพาตนเองและประหยัดพลังงาน เช่น การใช้เซลล์แสงอาทิตย์ การใช้พืชไวต่อแสงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของเซลล์แสงอาทิตย์ นอกจากนี้เรายังมีความจำเป็นที่จะต้องจัดสรรพื้นที่อย่างรอบคอบเพื่อการเพาะปลูก โดยส่วนหนึ่งเป็นเนื้อที่เพาะปลูกพืชอาหาร อีกส่วนหนึ่งเป็นพื้นที่เพาะปลูกพืชพลังงาน
นวัตกรรมเพื่อการยกระดับผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นทุกท้องถิ่นควรจะมีนวัตกรรมที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ โดยใช้วัตถุดิบที่หาได้ในท้องถิ่น นวัตกรรมไม่จำเป็นต้องเป็นผลิตภัณฑ์เพียงอย่างเดียว อาจจะมุ่งเน้นการให้บริการก็ได้ ควรมีลักษณ์ small and beautiful เพื่อไม่ให้เกิดหนี้สินที่จะสร้างปัญหากับท้องถิ่น นอกจากนี้นวัตกรรมท้องถิ่นจะช่วยส่งเสริมให้ท้องถิ่นมีรายได้จากการท่องเที่ยวอีกด้วย
นอกจากนี้ในการพัฒนานวัตกรรมเพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชนให้มีประสิทธิภาพ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องให้ความรู้และความเข้าใจแก่ชุมชนให้เข้าใจกระบวนการเปลี่ยนแปลง ซึ่งนวัตกรรมนี้จะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี และตลาด

วันศุกร์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2552

องค์ประกอบและปัจจัยที่เกี่ยวข้อง การศึกษาวิจัย การจดลิทธิบัตร ลิขสิทธิ์

การจดลิขสิทธิ์
1. ความหมาย
ลิขสิทธิ์ หมายถึง สิทธิ์แต่เพียงผู้เดียวของผู้สร้างสรรค์งานที่กระทำการใดๆ เกี่ยวกับงานที่ผู้สร้างสรรค์ได้จัดทำขึ้น ซึ่งผลงานนั้นเกิดขึ้นจากการใช้สติปัญญา ความรู้ความสามารถและความวิริยะอุตสาหะ ถือเป็น “ทรัพย์สินทางปัญญา” โดยสามารถซื้อขายโอนสิทธิ์กันได้ทั้งทางมรดกหรือโดยวิธีอื่นๆ ซึ่งจะกระทำกันเป็นลายลักษณ์อักษรหรือทำเป็นสัญญาและจะโอนสิทธิ์ทั้งหมดหรือบางส่วนก็ได้
2. ขอบข่าย
ลิขสิทธิ์จะมีได้ในงานต่างๆ 9 ประเภท คือ
2.1 งานวรรณกรรม เช่น หนังสือ สิ่งเขียน สิ่งพิมพ์ โปรแกรมคอมพิวเตอร์
2.2 งานนาฏกรรม ได้แก่ งานเกี่ยวกับการรำ การเต้น การทำท่าหรือการแสดงที่ประกอบขึ้นเป็นเรื่องราว
2.3 งานศิลปกรรม ได้แก่ งานจิตกรรม งานประติมากรรม งานสถาปัตยกรรม ภาพถ่าย
2.4 งานดนตรีกรรม ได้แก่ งานที่เกี่ยวกับเพลง ทำนองและเนื้อร้อง เป็นต้น
2.5 งานโสตทัศนวัสดุ เช่น วิดีโอเทป แผ่นเลเซอร์ดิสก์
2.6 งานภาพยนตร์
2.7 งานสิ่งบันทึกเสียง เช่น เทปเพลง คอมแพ็คดิสก์
2.8 งานแพร่เสียงและภาพ เช่น งานที่นำออกเผยแพร่ทางวิทยุกระจายเสียงหรือโทรทัศน์
2.9 งานอื่นใดอันเป็นงานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
3. ขั้นตอนการจดลิขสิทธิ์
3.1 กรอกข้อมูลและระบุรายละเอียดต่างๆ เช่น ชื่อเจ้าของลิขสิทธิ์ สถานที่ติดต่อ ชื่อผลงาน ประเภทของงาน ปีที่สร้างสรรค์ เป็นต้น
3.2 กรณีที่เจ้าของลิขสิทธิ์มีมากกว่า 1 คน ให้ระบุข้อมูลเพิ่มเติมในใบต่อท้าย
3.3 ให้ระบุวิธีการและขั้นตอนในการสร้างสรรค์ผลงานโดยย่อหรือแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานในแบบแสดงรายละเอียกเกี่ยวการสร้างสรรค์ผลงาน
3.4 ระบุชื่อเจ้าของลิขสิทธิ์ ที่อยู่ ประเภทของงาน ชื่อผลงาน ระบุวันที่ยื่นคำขอและเป็นผู้ลงนามในหนังสือรับรองความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์
3.5 แนบผลงานลิขสิทธิ์ที่ใช้ยืนประกอบคำขอ
4. เอกสารหลักฐานประกอบคำขอ
4.1 สำเนาบัตรประชาชน (กรณีเป็นบุคคลธรรมดา)
4.2 สำเนาหนังสือรับรองนิติบุคคลที่นายทะเบียนออกให้ไม่เกิน 6 เดือนของเข้าของลิขสิทธิ์ (กรณีเป็นนิติบุคคล)
4.3 หนังสือมอบอำนาจติดอากรแสตมป์ 30 บาท พร้อมสำเนาผู้รับมอบอำนาจ (กรณีมอบอำนาจ)
4.4 หน่วยงานหรือองค์กรรัฐใช้สำเนาหนังสือแต่งตั้งจากผู้บริหารหน่วยงานรวมทั้งสำเนาบัตรประชาชนของผู้ยื่นคำขอ
4.5 ผลงานลิขสิทธิ์ที่สร้างสรรค์ 1 ชุด
5. สถานที่ติดต่อเกี่ยวกับลิขสิทธิ์
5.1 ส่วนจัดการงานลิขสิทธิ์ สำนักลิขสิทธิ์ กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์
5.2 สำนักงานพาณิชย์จังหวัดทุกจังหวัดที่เจ้าของลิขสิทธิ์มีภูมิลำเนาอยู่
***ไม่มีค่าธรรมเนียมใดๆ ทั้งสิ้น***
การจดสิทธิบัตร
1. ความหมาย
สิทธิบัตร หมายถึง หนังสือสำคัญที่รัฐออกให้เพื่อคุ้มครองการประดิษฐ์คิดค้นหรือการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะตามที่กำหนดในกฎหมาย กฏกระทรวง และระเบียบว่าด้วยสิทธิบัตร พ.ศ.2522 เป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการคิดค้นหรือออกแบบเพื่อให้ได้สิ่งของ เครื่องใช้หรือสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น การประดิษฐ์รถยนต์ โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ หรือการออกแบบไม่ให้เหมือนคนอื่น เช่น ลวดลายบนจานข้าว ขวดบรรจุน้ำดื่ม
2. ขอบข่าย
สิทธิบัตร มี 3 ประเภท คือ
2.1 สิทธิบัตรการประดิษฐ์ คือ การคิดค้นเกี่ยวกับกลไก โครงสร้าง ส่วนประกอบของสิ่งของเครื่องใช้ เช่น กลไกของเครื่องยนต์ ยารักษาโรค หรือการคิดค้นกรรมวิธีประดิษฐ์สิ่งของ เช่น วิธีการใช้การผลิตสินค้า การเก็บรักษาพืชผลไม้ไม่ให้เน่าเสียเร็ว เป็นต้น
2.2 สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ คือ การออกแบบรูปร่าง ลวดลาย หรือสีสัน ที่มองเห็นได้จากภายนอก เช่น การออกแบบรูปร่างของแก้วน้ำ เป็นต้น
2.3 อนุสิทธิบัตร เป็นการให้ความคุ้มครองสิ่งประดิษฐ์คิดค้น เช่นเดียวกับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ แต่การประดิษฐ์ที่จะขอรับอนุสิทธิบัตรเป็นการประดิษฐ์ที่มีการปรับปรุงเพียงเล็กน้อย และมีประโยชน์ใช้สอยมากขึ้น
3. ขั้นตอนการจดสิทธิบัตร
3.1 ยื่นคำขอสิทธิบัตร ต้องยื่นเอกสารคำขอพร้อมชำระค่าธรรมเนียม
3.2 ตรวจสอบขั้นต้น เมื่อยื่นคำขอแล้วหากมีการแก้ไขเจ้าหน้าที่จะแจ้งให้ผู้ขอหรือตัวแทนทราบเพื่อทำการแก้ไขให้ถูกต้อง ภ3.3 ประกาศโฆษณา เมื่อคำขอถูกต้องเรียบร้อบเจ้าหน้าที่จะแจ้งให้ผู้ขอจ่ายค่าธรรมเนียมการประกาศโฆษณา 250 บาท โดยประกาศโฆษณาในหนังสือประกาศโฆษณาคำขอสิทธิบัตร เพื่อเปิดโอกาสให้มีการคัดค้าน โดยผู้คัดค้านต้องยื่นคำคัดค้านภายใน 90 วัน นับแต่วันประกาศโฆษณา
3.4 หลังประกาศโฆษณาผู้ขอต้องยื่นขอให้ตรวจสอบการประดิษฐ์ พร้อมชำระค่าธรรมเนียม โดยดำเนินการภายใน 5 ปี ตั้งแต่วันประกาศโฆษณา
3.5 ออกสิทธิบัตร เจ้าหน้าที่จะสืบค้นเอกสารว่าเคยมีสิ่งประดิษฐ์เดียวกันหรือคล้ายกันหรือไม่ ถ้าคำขอถูกต้องเป็นไปตามเงื่อนไขของกฏหมายเจ้าหน้าที่จะแจ้งให้ผู้ขอมาชำระค่าธรรมเนียมการรับจดทะเบียนและออกสิทธิบัตรให้ผู้ขอต่อไป
4. เอกสารประกอบคำขอ
4.1 แบบพิมพ์คำของรับสิทธิบัตร
4.2 รายละเอียดการประดิษฐ์
4.3 ข้อถือสิทธิ์
4.4 บทสรุปการประดิษฐ์
4.5 รูปเขียน (ถ้ามี)
4.6 เอกสารอื่นๆ (ถ้ามี)
5. สถานที่ติดต่อเกี่ยวกับสิทธิบัตร
5.1 ส่วนบริหารงานจดทะเบียน สำนักสิทธิบัตร กรมทรัพย์สินทางปัญญา
5.2 สำนักงานพาณิชย์จังหวัดทุกแห่ง
*** ชำระค่าธรรมเนียมเป็นรายปีภายใน 90 วัน นับจากวันที่ได้รับแจ้ง***