วันอาทิตย์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

การเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการขนมปุยฝ้ายโดยการใช้พืชให้สี

สีของอาหารเป็นลักษณะแรกที่ได้รับทางสัมผัส ซึ่งผู้บริโภคใช้ในการเลือก และยอมรับอาหารนั้น ๆ โดยอาหารเกือบทุกชนิดตั้งแต่วัตถุดิบจนถึงผลิตภัณฑ์สุดท้าย มีสีที่ยอมรับโดยผู้บริโภคแตกต่างกันขี้นอยู่กับสังคม ภูมิศาสตร์ ความชอบของ สวยงาม และพื้นฐานของผู้บริโภค
สีผสมอาหารเป็นวัตถุเจือปนอาหารชนิดหนึ่ง ซึ่งผู้ผลิตอาหารใช้ผสมลงไปในอาหารเพื่อปรุงแต่งอาหารนั้นให้แลดูสวยงามหรือกลบเกลื่อนลักษณะอาหารที่เสื่อมสภาพให้คล้ายสีของอาหารตามธรรมชาติ รวมทั้งการแต่งสีเพื่อช่วยให้ดู คล้ายอาหารที่มีคุณภาพสูง เช่น อาหารที่ใช้ไข่เป็นส่วนผสม ปรากฎว่าในการผลิต จริงใช้ไข่เพียงเล็กน้อย หรือไม่ได้ไส่เลย แต่ใช้สีเหลืองผสมลงไปให้เป็นสีของไข่
โดยทั่วไปการใช้สีผสมอาหารใช้เพื่อวัตถุประสงค์ต่างๆ กัน คือ
1. เพื่อแต่งสีผลิตภัณฑ์อาหารที่ไม่มีสี
2. เพื่อแต่งสีผลิตภัณฑ์อาหารซึ่งอาจสูญเสียหรือเปลี่ยนไปมากในระหว่างกระบวนการผลิตหรือการเก็บรักษา
3. เพื่อแต่งสีผลิตภัณฑ์อาหารที่มีสีธรรมชาติแปรเปลี่ยนตามฤดูกาลและสภาพภูมิอากาศ
ทั้งนี้อาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า การเติมสีในอาหารก็เพื่อทำให้ผลิตภัณฑ์อาหาร เป็นที่จดจำและมีลักษณะที่ดีที่ผู้บริโภคต้องการและยอมรับ
การใช้สีผสมอาหารเพื่อแต่งสีของอาหาร จะต้องเลือกชนิดของสีผสมอาหาร ที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค และใช้ในปริมาณที่ไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค โดยสีผสม อาหารที่ใช้ควรมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้
1. ไม่ทำให้คุณสมบัติของอาหารเปลี่ยนไปในทางเลวลง
2. มีความอยู่ตัวในอาหาร
3. ไม่เกิดปฎิกริยากับผลิตภัณฑ์อาหารและบรรจุภัณฑ์ที่ใช้
4. ง่ายต่อการใช้ในผลิตภัณฑ์
5. ราคาถูก
6. ให้ความเข้มของสีสูง
สีผสมอาหารโดยทั่วไป อาจแบ่งเป็น 2 พวกใหญ่ ๆ คือ
1. สีสังเคราะห์ หมายถึง สีอินทรีย์ที่ได้จากการสังเคราะห์ ซึ่งมีลักษณะถูกต้อง ตามข้อกำหนดและปลอดภัยต่อการบริโภค
2. สีธรรมซาติ ได้แก่ สีที่ได้จากการสกัดจากวัตถุดิบธรรมชาติผ่านการ พิจารณาในเรื่องส่วนประกอบ กรรมวิธีการผลิต ความบริสุทธิ์และอื่นๆ จนแน่ใจว่า ปลอดภัยต่อการบริโภค
สีธรรมชาติจากพืชให้สีน่าจะเป็นทางออกที่ดีสำหรับผลิตภัณฑ์อาหารชนิดต่างๆ ที่ต้องการให้มีสีสันน่ารับประทาน เพราะสีจากพืชให้สีมีความปลอดภัย และยังมีสรรพคุณทางยาหลายประการ ประกอบกับเป็นพืชที่หาง่ายในท้องถิ่น เช่น สีจากดอกอัญชัน ใบเตย ฟักทอง กระเจี๊ยบแดง ดอกคำฝอย ฯลฯ
ขนมปุยฝ้ายเป็นขนมประเภทหนึ่งที่มีคุณค่าทางโภชนาการและเป็นที่นิยมรับประทานของคนทุกวัย เพราะมีสีสันและลักษณะที่ชวนรับประทาน โดยหากทำความเข้าใจหรือให้ข้อมูลด้านโภชนาการเพิ่มเติมเกี่ยวกับพืชให้สีแก่ผู้บริโภค ก็น่าจะเป็นการเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการ รูปลักษณ์ของขนม ตลอดจนสร้างความปลอดภัยในการบริโภค
จากการใช้สีจากพืชให้สีไปใช้ในการทำขนมปุยฝ้าย ซึ่งได้แก่ สีน้ำเงินจากดอกอัญชัน สีแดงจากผลกระเจี๊ยบ สีเหลืองจากฟักทอง สีเขียวจากเตยหอม สีม่วงจากการผสมสีน้ำเงินจาก ดอกอัญชันกับน้ำมะนาว และสีม่วงจากการผสมสีน้ำเงินจากดอกอัญชันกับสีแดงจากผลกระเจี๊ยบ เมื่อตรวจสอบคุณภาพของขนมที่ได้ พบว่าจะได้ขนมที่มีสี กลิ่น และรสชาติหลากหลาย โดยเปรียบเทียบกับขนมที่ไม่ได้เติมสี
ขนมปุยฝ้ายสีเขียวจากน้ำคั้นใบเตยมีสีเขียวเข้ม กลิ่นหอม เนื้อขนมขึ้นฟูและอ่อนนุ่ม รสชาติแตกต่างจากขนมปุยฝ้ายที่ไม่เติมสีเล็กน้อย
ขนมปุยฝ้ายสีเหลืองจากน้ำคั้นฟักทอง ได้ขนมสีเหลืองทอง เนื้อขนมขึ้นฟูและอ่อนนุ่ม รสชาติแตกต่างจากขนมปุยฝ้ายที่ไม่เติมสีเล็กน้อย
ขนมปุยฝ้ายจากน้ำคั้นกระเจี๊ยบสีแดง ได้ขนมสีม่วงอ่อน เนื้อขนมขึ้นฟูและอ่อนนุ่ม รสชาติแตกต่างจากขนมปุยฝ้ายที่ไม่เติมสีคือมีรสเปรี้ยวตามลักษณะของผลกระเจี๊ยบ
ขนมปุยฝ้ายจากน้ำคั้นดอกอัญชันสีน้ำเงิน และสีม่วงของดอกอัญชันผสมมะนาว ได้ขนม สีน้ำเงิน และสีม่วงเข้ม เนื้อขนมขึ้นฟูและอ่อนนุ่ม รสชาติแตกต่างจากขนมปุยฝ้ายที่ไม่เติมสีเล็กน้อย
ในส่วนของสีสันที่ได้มีความแปลกใหม่ดึงดูดใจผู้บริโภค เพราะในปัจจุบันผู้บริโภคสนใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น การใช้สีจากพืชให้สีจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับอาหารปลอดภัยเพื่อสุขภาพที่ดี